วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

การทำเค้ก




การทำเค้ก
จาก วรรณธิดา

ขนมประเภทเบเกอรี่ ถ้าพูดถึง “เค้ก” คงจะเป็นขนมชนิดแรก ๆ ที่นึกถึง แต่ถ้าพูดถึงวิธีการทำ หรือคิดจะทำขนมเค้กทานเอง ที่บ้านหลาย ๆ คนอาจคิดว่ายุ่งและยากเกินความสามารถของเรา เพราะต้องมีอุปกรณ์มากมายหลายชนิด แต่จริง ๆ แล้ว การทำเค้ก ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คุณคิด ขั้นตอนหลัก ๆ ก็มีอยู่ไม่มาก เพียงแค่ทำความเข้าใจสักนิด ตั้งใจสักหน่อย เชื่อว่าคุณก็สามารถทำขนมเค้ก ด้วยตัวเองได้ และยังอาจเป็นอาชีพเสริมรายได้ได้อีกด้วย



วัตถุประสงค์

1. มีความรู้เรื่องเค้ก ชนิดเค้ก
2. เพื่อมีความรู้ เข้าใจเกี่ยวกับเค้ก และการแต่งหน้าเค้ก
3. เพื่อสามารถปฏิบัติการทำเค้กและแต่งหน้าเค้กได้
4. เพื่อการเรียนรู้และเพิ่มทักษะให้เกิดความชำนาญในการทำเค้ก
5. เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ


เนื้อหาสาระ

1.ความหมายของเค้ก ความเป็นมาของเค้ก
2.ความรู้เรื่องเค้ก และ ชนิดของเค้ก
3.หลักการและเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำเค้กที่ควรทราบ
4.ลักษณะของเค้กที่ดี
5.สาเหตุที่ทำให้เค้กเสียและการแก้ไข
6.วัสดุ อุปกรณ์ และวัตถุดิบในการทำเค้ก
7.ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กนมสด
8.ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กช็อกโกแลต
9.ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กทอฟฟี่เค้ก
10.ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กชิฟฟ่อนวานิลลา
11.ประโยชน์ของเค้ก



ขนมเค้ก

เค้ก(cake) เป็นขนมหวานที่เต็มไปด้วยรสชาติอร่อย ความหอมมันจากนม เนย และส่วนประกอบอีกมากมายที่ทำให้ทุกคนรู้สึกมีความสุข ในการลองลิ้มชิมเค้กที่แสนอร่อย รวมไปถึงหน้าตาสีสันหลากหลายรูปแบบของเค้กที่มีให้เลือกมากมาย แต่เค้กอร่อย ๆ นั้นก็มักจะมี ราคาแพงจนบางคนอยากจะลองทำกินเอง แต่ก็ติดปัญหาว่า ไหนจะส่วนผสม ไหนจะเตาอบ ไหนจะต้องซื้ออุปกรณ์อีก ดูช่างยุ่งยาก เสียเหลือเกิน สรุปว่าซื้อกินดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลายุ่งยากในการทำ แต่จริง ๆ แล้วปัญหาเหล่านี้จะหมดไปถ้าตั้งใจและสนุกกับการทำ “เค้กก้อนหนึ่ง” ด้วยตัวคุณเอง

ทำความรู้จักเค้ก

ความหมายของเค้ก

เค้ก เป็นขนมที่มีกระบวนการทำให้สุกโดยการอบ เป็นขนมที่นิยมบริโภคกันทุกกลุ่มชน เค้กมีหลาย ประเภทและมีคุณสมบัติต่าง ๆ กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของส่วนผสม คือแป้งสาลี ผงฟู เกลือ ไขมัน น้ำตาล ไข่ นม และกลิ่นรส โดยต้องมีองค์ประกอบเป็นตัวเค้ก ให้มีความสมดุลต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของเค้กที่จะทำ

ประเภทของเค้ก โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ชนิด

1. เค้กที่มีไขมันเป็นส่วนผสมหลัก เป็นเค้กที่มีปริมาณไขมันสูง ได้แก่ เค้กเนย เค้กผลไม้ เค้กช็อกโกแลต
2. เค้กที่มีไข่เป็นส่วนผสมหลัก การขึ้นฟูขึ้นอยู่กับการจับอากาศของไข่ในระหว่างการตีไข่ ทำให้เค้กขยายตัวในระหว่างการอบ ได้แก่ แยมโรล ทอฟฟี่เค้ก
3. เค้กที่ทำโดยแยกไข่แดง-ไข่ขาว หรือเรียกอีกอย่างว่า ชิฟฟอนเค้ก

เตรียมอุปกรณ์

•เตาอบ
•เครื่องตีไข่ไฟฟ้า
•เครื่อง นวดแป้ง
•อ่างผสม •พายยาง
•พิมพ์อบเค้ก •แปรงทาเนย •ตะแกรงร่อนแป้ง
•ตะแกรง
•พิมพ์หรือถาด อบขนม ขนาดกว้าง 10 นิ้ว ยาว 13 นิ้ว สูง 1 1/2 นิ้ว
• ตาชั่ง •ถ้วยตวงของแห้งและถ้วยตวงของเหลว
•ช้อนตวง
•มีดตัดขนม และมีดปาดครีม
•กระดาษไข

ส่วนผสมที่ใช้

แป้งสาลี

แป้งสาลีที่ใช้ทำเค้ก ควรจะมีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซนต์ มีสีขาวละเอียด และได้ผ่านการฟอกด้วย คลอลีนมาแล้ว ซึ่งการฟอก แป้งนี้จะทำให้แป้งมีคุณสมบัติเหมาะในการทำเค้ก คือช่วยทำให้แป้งดูดน้ำ น้ำตาลไขมันได้มากขึ้น หน้าที่ของแป้งในการทำเค้ก คือ เป็นตัวให้โครงสร้างแก่เนื้อเค้ก และเป็นตัวช่วยรวมส่วนผสมอื่น ๆ ให้เข้ากันได้ดีขึ้น

น้ำตาล

น้ำตาลเป็นตัวทำให้เค้กมีรสหวาน และยังทำให้เค้กเกิดความนุ่ม เพราะน้ำตาลมีผลทำให้โปรตีนในแป้งอ่อนตัว ช่วยให้เค้กมีอายุ การเก็บไว้ได้ยาวนานขึ้น เนื่องจากน้ำตาลมีคุณสมบัติในการเก็บความชื้นที่ดี และยังทำให้เค้กมีผิวสีสวย น้ำตาลที่นิยมใช้ในการทำเค้ก ส่วนมากจะใช้น้ำตาลทรายเม็ดละเอียด อาจใช้น้ำตาลทรายแดงบ้างในการทำเค้กบางชนิดปัจจัยที่ทำให้น้ำตาลละลายได้ในระหว่าง ผสมมี 4 ประการ คือ
- เวลาที่ใช้ผสม
- ขนาดของเม็ดน้ำตาล
- ปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในส่วนผสม
- อุณหภูมิในระหว่างผสม

ไขมัน

ไขมันมีหน้าที่จับอากาศไว้ในขณะที่ผสมเค้ก อากาศที่ไขมันเก็บไว้ในระหว่างการตี มีหน้าที่เป็นตัวทำให้เค้กอ่อนนุ่มมากกว่า ตัวไขมันจริง ๆ ไขมันทุกชนิดถือว่ามีหน้าที่ทำให้ขนมมีความนุ่ม ไขมันในการทำเค้กโดย ทั่ว ๆ ไปมี เนยสด เป็นไขมันที่ให้กลิ่นรสดีที่สุด ในจำนวนไขมันทุกชนิด ที่ใช้ในการทำขนมอบ แต่มีค่าของการเป็นชอตเทนนิ่งต่ำ คือ เวลาผสมจะมีน้ำหนัก เนื้อไม่เนียน
เป็นครีม และมักไม่เข้ากันดี เค้กที่ทำด้วยเนยสดล้วน จึงมักจะมีปริมาตรไม่ดี และมีเนื้อเค้กหยาบกว่าเค้กที่ทำด้วยเนยขาวที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นครีมที่ดี แต่จะไม่มีกลิ่นรสที่ดีเหมือนเนยสด ดังนั้นในการทำเค้กจึงนิยมใช้เนยสด หรือมาการีนหรือเนยขาวอย่าง ละครึ่ง โดยเนยสดมีหน้าที่ให้กลิ่นรส และเนยขาวมีส่วนช่วยในด้านการผสม และด้านปริมาณของเค้กนอกจากนั้นมาการีน เนยขาว น้ำมัน ก็เป็นไขมันที่สำคัญในการให้ความชุ่มชื้นในเนื้อเค้ก

ไข่ไก่

ไข่ไก่มีหน้าที่ช่วยให้เกิดโครงสร้าง กลิ่น รส สี ความชื้น และคุณค่าอาหารแก่ขนมเค้ก โครงสร้างที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของโปรตีน ในไข่ในระหว่างการอบ และไข่จะเป็นตัวช่วยเก็บอากาศในระหว่างตี ทำให้ขนมขึ้นฟูในเค้ก เช่น สปองจ์เค้ก

เกลือ

เกลือเป็นตัวทำให้เกิดรสชาติในขนมเค้ก คือ ให้ความเค็มและยังเป็นตัวช่วยเน้นรสชาติของ
ส่วนอื่น ๆ ให้ดีขึ้น และยังมีส่วนช่วย ทำให้เค้กแข็งตัว เพราะเกลือมีผลต่อกลูเต้นของแป้งสาลีจึงเป็นตัวให้โครงสร้างแก่เค้ก

สิ่งที่ช่วยทำให้ขึ้นฟู

จะเป็นตัวทำให้เกิดความนุ่มในเค้ก ชนิดของสิ่งที่ทำให้ขึ้นฟูที่ใช้ในสูตรเค้กขึ้นอยู่กับประเภทของเค้กที่ต้องการทำ ซึ่งการขึ้นฟูโดยทั่วไปเกิดจากเหตุ 3 ประการ คือ
- ขึ้นฟูโดยอากาศ
- ขึ้นฟูโดยใช้สารเคมี เช่น ผงฟู หรือโซดาไบคาร์บอเนต
- ขึ้นฟูโดยความดันไอน้ำที่เกิดขึ้นเมื่อเค้กอยู่ในเตาอบ

กลิ่นรสและเครื่องเทศ

สิ่งเหล่านี้ใช้เติมลงในเค้กเพื่อให้เกิดรสเฉพาะอย่าง การเลือกใช้กลิ่นรส ควรเลือกให้เหมาะสมกับชนิดของเค้กที่ทำ

นม

นมที่นิยมใช้ในการทำเค้กมี นมสด นมข้นจืดระเหย นมผง นมผงช่วยให้เกิดโครงสร้าง และความมันแก่เค้ก และยังทำให้เค้กเกิดความแข็งและแห้งในขณะเดียวกันเนื่องจากนมผงมีการเชื่อมกับโปรตีนในแป้ง ทำให้เกิดการแข็งตัว นอกจากนี้นมผงยังเป็นตัวให้สีที่ผิวเค้ก เนื่องจากในนมผงมีน้ำตาลแลกโตสอยู่ และยังช่วยให้เกิด กลิ่นรส และเป็นตัวเก็บความชื้นได้ดีด้วย

ของเหลว

ของเหลวที่ใช้ในสูตรเค้กอาจจะเป็นในรูป น้ำนม น้ำไข่ หรืออาจจะอยู่ในส่วนผสมอื่น ๆ ที่มีความชื้นอยู่ความชื้นทำหน้าที่หลายอย่างในเค้ก เช่น ละลายน้ำตาล ทำให้เกิดกลูเต้น ทำให้ผงฟูเกิดปฏิกริยาที่ควรเป็น ช่วยควบคุมความหนืดและอุณหภูมิของส่วนผสม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความอ่อนนุ่มให้แก่เค้ก

หลักการและเทคนิคต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำเค้กที่ควรทราบ

การทำเค้กแต่ละชนิดจะมีวิธีทำและส่วนผสมที่ต่างกันบางชนิดก็มีวิธีการทำที่ซับซ้อน ซึ่งผู้ทำเค้กควรจะมีเทคนิคในการทำ คือควรร่อนแป้ง ทุกครั้งก่อนใช้ เพื่อให้อากาศแทรกเข้าไประหว่างเนื้อแป้ง ทำให้แป้งฟูเบา ช่วยให้แป้งที่จับเป็นก้อนเแยกตัวออก จะสังเกตได้ว่าแป้งที่ร่อนแล้ว กับแป้งที่ยังไม่ได้ร่อน แม้จะมีปริมาตรเท่ากันแต่จะหนักไม่เท่ากัน ดังนั้นในการทำเค้กในปัจจุบัน จะนิยมการชั่งมากกว่าการตวง ซึ่งทำให้ส่วนผสม แน่นอนกว่า แต่การชั่งก็ต้องร่อนแป้งทุกครั้งเช่นเดียวกัน

ไขมันในการทำเค้กใช้เนยหรือมาการีนถ้าเป็นเนยสดก่อนใช้ควรนำออกจากตู้เย็นก่อนเพื่อจะตีได้ง่ายขึ้นในการทำเค้กเพื่อให้มีลักษณะดีควรใช้เนยสดผสมมาการีนหรือเนยขาว จะทำให้เค้กเนื้อนุ่มมีลักษณะดี และมีปริมาตรดีด้วย

ควรใช้น้ำตาลเม็ดละเอียดในการผสมเค้ก ถ้าใช้น้ำตาลเม็ดใหญ่อาจทำให้ละลายไม่หมด ทำให้เกิดลักษณะเป็นจุด ๆ บนหน้าเค้ก ควรนำไปปั่นให้ละเอียดก่อนใช้การตีส่วนผสม เค้กชนิดที่มีไขมันเป็นส่วนผสมหลัก ควรใช้พายยางปาดข้างอ่างผสมและที่ตีเสมอ ๆเพื่อช่วยให้ส่วนผสมเข้ากันได้ง่ายขึ้น ควรหยุดเครื่องผสมทุกครั้งก่อนใช้พายปาด

ผงฟู ที่ใช้ในการทำเค้กควรใช้ผงฟูคุณภาพดี ถ้าผงฟูเก่าขนมเค้กจะมีขนาดและปริมาตรไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

การเติมไข่หรือส่วนผสมที่เป็นของเหลว ควรค่อย ๆ เติมลงไปทีละน้อย หรือแบ่งเติมทีละส่วน ไม่ควรใส่หมดในคราวเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ไขมันแยกตัวออกจากส่วนผสม ทำให้เค้กที่ได้มีปริมาตรเล็ก และเนื้อขนมมีลักษณะไม่ด

ในการผสมเค้กเนยในช่วงสุดท้าย มักเป็นการผสมนมหรือของเหลวอื่น ๆ ให้ใส่แป้งสลับกับนมโดยเริ่มต้นด้วยแป้งสลับนม และจบสุดท้ายด้วยแป้ง เพื่อให้ดูดซึมของเหลวบางส่วนไว้ และป้องกันการแยกตัวของไขมัน ในส่วนผสมอื่นอีกด้วย

ไข่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเค้ก ควรใช้ไข่ไก่สด สปันจ์เค้กหรือชิฟฟ่อนเค้ก เพราะถ้าไข่สด ไข่ขาวจะข้น และไข่แดงรวมตัวเป็นก้อนกลมไม่เหลวหรือแตกง่าย

การตีไข่ขาว สำหรับเค้กชิฟฟ่อน ควรตีด้วยความเร็วสูงจนไข่เริ่มตั้งยอดอ่อน จึงใส่น้ำตาลแล้วตีต่อจนไข่ขาวตั้งยอด ข้อควรระวังในการตีไข่ขาว อุปกรณ์เครื่องใช้เช่น อ่างผสม ที่ตีต้องสะอาด และแห้งสนิทไม่เปื้อนไขมัน ไม่มีไข่แดงแตกปน

การอบเค้กทุกชนิด ควรจุดเตาอบให้อุณหภูมิของเตาอบได้ตามที่บอกไว้ตามตำรา ขณะอบขนมไม่ควรเปิดเตาอบดูขนมบ่อย ๆ การเปิดเตาอบแต่ละครั้งอุณหภูมิจะลดลงเพราะในขณะอบขนมอยู่ อากาศหรือก๊าซที่อยู่ในเนื้อขนมจะขยายตัว เมื่อขนมสัมผัส อากาศจะทำให้เนื้อขนมยุบตัวได้ถ้าเป็นระยะที่เนื้อขนมยังไม่แข็งตัวหรือยังไม่สุก

การทดสอบว่าเค้กที่อบสุกหรือยัง ทำได้โดยใช้ไม้ปลายแหลมจิ้มตรงกลางขนม ถ้าไม่มีเนื้อเค้กติดไม้ออกมาแสดงว่าสุกแล้ว หรือใช้นิ้วมือแตะหน้าขนมเบา ๆ ถ้าไม่เป็นรอยนิ้วที่แตะก็ใช้ได้ หรือสังเกตว่าขอบขนมร่อนออกจากพิมพ์โดยรอบ มีสีเหลืองสวย

การอบเค้ก ควรวางพิมพ์ให้อยู่กึ่งกลางเตาอบให้มากที่สุด เมื่อต้องการอบพร้อมกันหลาย ๆ พิมพ์ ควรจัดวางพิมพ์ให้ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว ไม่ควรวางพิมพ์ชิดกันหรือติดผนังเตาอบ


ลักษณะของเค้กที่ดี

1.สีของผิวรอบนอกควรเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนสม่ำเสมอ
2.สีของเนื้อใน เป็นไปตามส่วนผสมเช่นเค้กเนยก็เป็นสีเหลืองอ่อน เค้กช็อกโกแลตก็เป็นสีน้ำตาล
3.ลักษณะของ ของรอบนอก เรียบสม่ำเสมอกัน
4.การขึ้นฟูเป็นไปตาม ปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตได้ น้ำหนักเบาเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของขนม
5.ลักษณะของหน้าขนม มัน เรียบ ไม่นูนเป็นแห่งๆ
6.กลิ่นหอม ชวนรับประทาน เป็นไปตามส่วนผสมที่ใส่แต่ต้องไม่มีกลิ่นหืน
7.ลักษณะของเนื้อในต้องละเอียด ไม่แน่น หนัก มีความชื้น ไม่ร่วนหรือแฉะ
8.มีความนุ่มนวล นิ่มเมื่อเอามือแตะเบาๆ จะสปริงหรือหยุ่นกลับที่เดิม เนื้อจะไม่แน่น
9.รสชาติกลมกล่อมเป็นไปตามส่วนผสมไม่ควรมีรสชาติผิดแผก แปลกออกไป เช่น รถเฝื่อนเป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เค้กเสียและวิธีการแก้ไข

การทำเค้กที่ดีจะต้องอาศัยเทคนิคแล้วยังต้องมีประสบการณ์ สัดส่วนและสิ่งที่ทำอย่างถูกต้อง ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นเสมอและวิธีแก้ไขดังนี้
1.เค้กหน้าไม่เรียบ ฟู และแตก วิธีแก้ไข ก็คือใช้ที่ปาด(สแปดตูส่ง)แตะน้ำมันพืชทาบนเนื้อขนมก่อนเข้าอบ
2.เค้กยุบตรงกลางเป็นเพราะอุณหภูมิในการอบไม่ถูกต้องใช้ไฟอ่อนหรือไฟแรงเกินไป ควรปรับอุณหภูมิให้ถูกต้อง หรืออาจใส่ผงฟูหรือน้ำตาลมากเกินไป เป็นเพราะเคลื่อนย้ายเค้ก หรือเปิดเตาอบขณะเค้กกำลังขึ้น
3.ผิวหน้าเค้กแฉะ เป็นเพราะอบไว้ไม่สุกดี วิธีแก้ไขควรอบให้สุก ตรวจสอบอุณหภูมิของเตาอบ
4.เค้กที่มีรูใหญ่ๆ เป็นเพราะส่วนผสมแห้งเกินไป ผสมกันไม่ทั่ว เทเค้กลงในพิมพ์ไม่ต่อเนื่อง วิธีแก้ไขควรผสมให้เข้ากันอย่างทั่วถึง เทเค้กลงพิมพ์ให้ต่อเนื่องกัน ไล่อากาศก่อนเข้า เตาอบโดยเคาะพิมพ์เบาๆ หรือใช้พายยางลากไปมาในเนื้อขนมก่อนนำเข้าเตาอบ
5.เนื้อเค้กแห้ง เป็นเพระตีไข่ขาวนานเกินไป หรืออบนานเกินไปวิธีแก้ไขควรตีไข่ขาวถึงจุดที่ต้องการเท่านั้นไม่ควรอบนานเกินไปตรวจสอบอุณหภูมิอย่างถูกต้อง

การตรวจสอบว่าเค้กสุกหรือไม่

•ใช้ไม้จิ้มตรงกลางเค้ก ถ้าไม่มีเค้กติดปลายไม้ขึ้นมา แสดงว่าเค้กสุดดีแล้ว วิธีนี้ให้ใช้กับเค้กเนยและเค้กไข่ แต่ถ้ามีเค้กติดขึ้นมาให้นำเค้กอบต่อจนสุก
•ใช้นิ้วแตะเบา ๆ บริเวณหน้าเค้ก ถ้าเค้กสุกแล้วเค้กจะไม่ยุบ เมื่อจิ้มลงไปเนื้อเค้กจะดีดตัวกลับขึ้นมา วิธีนี้แนะนำให้ใช้กับเค้กไข่ และ ชิฟฟ่อนเค้ก (สำหรับเค้กเนยสดจะใช้วิธีนี้ก็ได้)
•สังเกตว่าเค้กมีสีเข้มขึ้น และด้านล่างเค้กเริ่มล่อนออกจากพิมพ์



เค้กนมสด (Milk cake)

ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กนมสด( Milk cake )
ส่วนผสม
ส่วนผสมเนื้อเค้ก


1.แป้งเค้ก 265 กรัม
2.เนยสดชนิดจืด 185 กรัม
3.น้ำตาลทรายป่น 250 กรัม
4.ผงฟู 1 ช้อนชา
5.เกลือ 1/2 ช้อนชา
6.ไข่ไก่ 4 ฟอง (ฟองใหญ่)
7.นมสด 160 กรัม
8.กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา

ส่วนผสมครีมแต่งหน้า

1.วิปปิ้งครีม 2 1/2 ถ้วย
2.น้ำตาลไอซิ่ง 1 ถ้วย
3.เกลือ 1/2 ช้อนชา
4.วานิลา 2 ช้อนชา
5.นมสด 1/2 ถ้วย
6.ผลไม้ตามชอบ เช่น สตรอเบอร์รี่ , เชอร์รี่ , กีวี ฯ
7.ถุงบีบ และ หัวบีบ

วิธีทำตัวเค้ก

1. ร่อนแป้งเค้ก , ผงฟู และเกลือ รวมกันพักไว้
2. ตีเนยสดพอขึ้นฟู ด้วยความเร็วปานกลาง เติมน้ำตาลทรายป่นทีละนิดจนหมด ตีจนขึ้นฟูเนียน
3. ใส่ไข่ไก่ทีละฟอง ตีให้เข้ากัน ใส่กลิ่นวานิลา
4. ใส่แป้งสลับกับนมสดจนหมด ผสมโดยใช้ความเร็วต่ำให้เข้ากันดี
5. เทส่วนผสมที่ได้ใส่พิมพ์กลมขนาด 2 ปอนด์ 2 พิมพ์ที่ทาเนยขาววางกระดาษไขทาเนยขาวทับแล้ว
6. นำเข้าเตาอบไฟฟ้า โปรแกรมไฟบนล่างที่อุณหภูมิ 180 °C ประมาณ 35-40 นาทีหรือจนสุก
7. เมื่อเค้กสุกพักให้เย็นบนตะแกรงแล้วค่อยเลื่อยเค้กออกเป็น 2 ชิ้น

วิธีทำครีมแต่งหน้า

1. ตีวิปปิ้งครีมให้เป็นฟองแล้วค่อย ๆ เติมนมลงไป ตีด้วยความเร็วปานกลางจนขึ้นฟู ใส่ไอซิ่ง เกลือ ตีต่อ ใส่วานิลาตีจนเนียน ตั้งยอด
2. นำไปแต่งหน้าเค้ก

การประกอบเค้ก

1. วางเค้กชิ้นที่ 1 แล้วปาดครีมให้ทั่ว จึงนำเค้กชิ้นที่ 2 วางทับ นำวิปปิ้งครีมมาปาดให้ทั่วก้อนเค้กทั้งด้านหน้าและด้านข้าง
2. บีบวิปครีมลงบนเค้ก แล้งจึงนำผลไม้ตามชอบมาตกแต่งด้านบนเค้กให้สวยงาม


เค้กช็อกโกแลต (chocolate cake)



ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กช็อกโกแลต
ส่วนผสม


1.แป้งเค้ก 330 กรัม
2.แป้งซอฟท์เค้ก 20 กรัม
3.ผงโกโก้ 50 กรัม
4.ผงโซดาฯ 1/2 ชต.
5.น้ำตาลไอซิ่ง 500 กรัม
6.เนยสด 450 กรัม
7.EC-25 25 กรัม
8.ไข่ไก่ 9 ฟอง
9.นมข้นจืด 100 กรัม
10.ทำเค้กปอนด์ได้ 5 อัน

วิธีทำ

1.ร่อนแป้งเค้ก+แป้งซอฟท์เค้ก+โซดาฯ แล้วนำไปเคล้ากับผงโกโก้ให้เข้ากัน แล้วนำไปร่อนต่อ อีก 2 ครั้ง
เพื่อไม่ให้ผงโกโก้เป็นเม็ดทานแล้วไม่อร่อย
2.ตีเนย+EC-25+น้ำตาลไอซิ่ง จนขึ้นฟู
3.หยุดเครื่องใส่นม +ไข่+แป้ง ตีด้วยความเร็วต่ำเดี่ยวแป้งฟุ้งพอเข้ากัน ปรับความเร็วตีจนส่วนผสมเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกัน พอเข้ากันเปลี่ยนเป็นความเร็วต่ำสุดเพื่อตัดฟองอากาศ
4.ตักใส่แม่พิมพ์เค็กปอนด์ที่รองกระดาษไขและทาเนย ได้ประมาณ 5 อันประมาณอันละ 450 กรัม
5.นำอบไฟประมาณ 400 ฟ ประมาณ 45 นาที หรือจนสุก







เค้กท๊อฟฟี่ (Toffy cake)



ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กทอฟฟี่เค้ก
ส่วนผสม
ส่วนผสมตัวเค้ก

1.แป้งสาลีสำหรับทำเค้ก 1 1/4 ถ้วย
2.ผงฟู 1 ช้อนชา
3.ผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะ
4.กาแฟผงสำเร็จรูปบดละเอียด 1/2 ช้อนโต๊ะ
5.ไข่ไก่ฟองเล็ก 5 ฟอง
6.น้ำตาลทรายเม็ดละเอียด 1 ถ้วยตวง ( เนื่องจากไม่ทานหวานเลยขอลดเหลือแค่ 3/4 ถ้วยตวง)
7.เกลือป่น 1/4 ช้อนชา
8.เนยสดละลาย 3/4 ถ้วยตวง

วิธีทำ

1.เตรียมแป้งโดยผสมแป้ง ผงฟู ผงโกโก้ ผงกาแฟเข้าด้วยกันร่อนด้วยตะแกรงร่อนแป้ง 1 ครั้ง
2.ทำเค้กเตรียมไว้โดยตีไข่กับเกลือด้วยเครื่องตีไข่ไฟฟ้าพอขึ้นฟู ค่อยๆ ใส่น้ำตาลทีละ 1 ช้อนโต๊ะจนหมดน้ำตาลและไข่ตั้งยอดได้ใส่ส่วนผสมแป้งที่ร่อนไว้ คนเบาๆ ให้เข้ากัน
3.ใส่เนยละลาย คนให้เข้ากัน เทใส่ถาดสี่เหลี่ยมขนาด 11x7x1 นิ้วที่ทาเนยและรองด้วยกระดาษไขประมาณ 3/4 ของถาด
4.นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียสประมาณ 20 นาทีหรือจนสุก เอาออกจากเตาอบคว่ำออกจากพิมพ์ ดึงกระดาษออกพักไว้ให้เย็น ใส่ในถาดเดิม

ส่วนผสมหน้าท๊อฟฟี่

1.เนยสดชนิดเค็ม 1/2 ถ้วยตวง
2.นมข้นจืด 1/2 ถ้วยตวง
3.น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง (แอบลดสูตรอีกเช่นกันค่ะ เหลือแค่ 1/2 ถ้วยตวง)
4.แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ
5.เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ 1 ถ้วยตวง

1.เมื่อตัวเค้กเย็นแล้วจึงทำส่วนผสมหน้าทอฟฟี่ โดยเคี่ยวเนยสดนมข้นจืด และน้ำตาลจนละลายและเดือด ใส่แป้งสาลี คนเร็วๆ อย่าให้แป้งเป็นก้อน พอเดือดอีกครั้งและข้นจึงใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ คนให้เข้ากัน ตักราดบนหน้าเค้ก เกลี่ยให้ทั่ว นำเข้าเตาอบอีกครั้งจนหน้าทอฟฟี่เป็นสี่เหลืองเข้มออกเกรียมเล็กน้อย ยกออกจากเตา ทิ้งไว้ให้เย็น
2.ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมโดยคว่ำหน้าเค้กลงแล้วจึงตัด







เค้กชิฟฟ่อนวานิลลา (Vanilla cake)




ส่วนผสมและวิธีการทำเค้กชิฟฟ่อนวานิลลา
ส่วนผสม


1.แป้งเค้ก 2 1/2 ถ้วยตวง
2.น้ำตาล 1 1/2 ถ้วยตวง
3.ผงฟู 1/2 ช้อนโต๊ะ
4.เกลือ 1 ช้อนชา
5. น้ำมัน 1/2 ถ้วยตวง
6.ไข่แดง 5 ฟอง
7.น้ำเย็น 3/4 ถ้วยตวง
8.กลิ่นวานิลลา 1 ช้อนชา
9.ไข่ขาว 8 ฟอง
10.ครีมออฟทาร์ทาร์ 1/4 ช้อนชา
11.วิปปิ้งครีม 300 กรัม
12.น้ำตาลไอซิ่ง 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

1. ตั้งเตาอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส เตรียมพิมพ์ปล่องสำหรับอบเค้ก ทาเนยบางๆ ให้ทั่ว
2. ร่อนแป้ง ผงฟู เกลือ ลงในชาม จากนั้นเติมน้ำตาลลงไป คนให้เข้ากัน
3. ใส่ไข่แดงลงไปพร้อมกันทีเดียว ตามด้วยน้ำมัน น้ำเย็น และกลิ่นวานิลลา คนให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว
4. ตีไข่ขาวกับครีมออฟทาร์ทาร์เร็วๆ ในชามสะอาดจนขึ้นฟู คล้ายมูสใส่ผม
5. ตักส่วนผสมของแป้งใส่ลงในไข่ขาวทีละนิด ตะล่อมให้เข้ากันอย่างเบามือ เพื่อไม่ให้ไข่ขาวยุบตัวจนเป็นเนื้อเดียว
6. เทใส่พิมพ์ อบประมาณ 50-60 นาที หรือ จนเค้กสุก นำออกจากเตา ทิ้งไว้ให้เย็นบนตะแกรงก่อนคว่ำออกจากพิมพ์
7. ทำครีมสำหรับทาหน้าเค้ก โดยตีวิปปิ้งครีมที่เย็นจัดกับน้ำตาลไอซิ่งให้ขึ้นฟูเหมือนครีมโกนหนวด ค่อยๆปาดลงไปบนเค้กที่เย็นสนิท
8. แต่งหน้าด้วยผลไม้ หรือท็อปปิ้งต่างๆ ตามใจชอบ


ประโยชน์ของเค้ก

เค้ก เป็นขนมอบที่มีลักษณะ รูปร่าง ตามความต้องการของผู้ผลิต แต่มีส่วนประกอบของแป้งสาลี น้ำตาล ไข่ นม ไขมัน และสิ่งปรุงแต่งให้เกิดชนิดของเค้ก
เช่น ผลไม้ต่าง ๆ ดังนั้นเค้กจึงเป็นขนมที่ให้ประโยชน์กับผู้ บริโภค
โดยได้รับสารอาหาร คือ แป้ง น้ำตาล ให้สารอาหาร
คาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นสารอาหารที่ทำให้เกิดพลังงานแก่ร่างกาย ไข่ นม
ให้สารอาหาร โปรตีน ซึ่งเป็นสารอาหารที่สร้างเซลล์เนื้อเยื่อให้กับร่างกาย เนย ไขมัน ให้สารอาหารไขมัน ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยในการหล่อลื่นและทำให้ผิวพรรณสดชื่น นอกจากนั้นเด็กยังสามารถนำไปใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันมงคลสมรส วันเกิด ปีใหม่ และสามารถจัดรับประทานเป็นอาหาร น้ำชา กาแฟด้วย










ผู้จัดทำ



วรรณธิดา